ข่าวออนไลน์
5โศกนาฏกรรมระเบิดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ (มีไทยด้วย)

5โศกนาฏกรรมระเบิดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ (มีไทยด้วย)

5โศกนาฏกรรมระเบิดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ (มีไทยด้วย)

จากเหตุระเบิดครั้งใหญ่ในเบรุต ประเทศเลบานอน เป็นอีกครั้งที่ความสูญเสียมหาศาลเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ซึ่งนอกจากภัยธรรมชาติและโรคระบาดแล้ว ต้นแหตุแห่งการเสียหายต่อมนุษย์อีกประการหนึ่งคือ "ระเบิด"

ในประวัติศาสตร์โลกเรา ผ่านการระเบิดมานับครั้งไม่ถ้วน ทั้งเป็นความตั้งใจในการฆ่าระหว่างสงครามและก่อการร้าย รวมถึงเป็นอุบัติครั้งใหญ่ระดับโลกไม่ลืม!


หากไม่รับการทิ้งระเบิดปรมณูที่ฮิโรชิม่า และนางาซากิ 5 เหตุการณ์นี้ ถือเป็นเหตุระเบิดที่เกิดความสูญเสียครั้งใหญ่



1. ระเบิดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิล (Chernobyl) เมืองพริเพียต (Pripyat) ประเทศยูเครน 25-26 เมษายน 1986


นี่คืออุบัติเหตุเตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดที่เลวร้ายที่สุดในโลก!







ในปี 1970 ยูเครนอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต ขณะนั้น ทุกฝ่ายเห็นชอบการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ จึงได้มีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลขึ้น และได้สร้างเมืองใหม่ใกล้ๆ คือ "เมืองพริเพียต" มีการวางแผนผังและสร้างเมืองอย่างพิถีพิถัน มีศาลากลางเมือง โรงพยาบาล โรงเรียน โรงแรม ช้อปปิ้งมอลหรูหราขนาดใหญ่ สวนสาธารณะ พร้อมทั้งสวนสนุก นี่คือความหวังอันเรืองรองแห่งอนาคตของมหาอำนาจอย่างโซเวียต ทุกอย่างดูไปได้สวย


กระทั่ง 16 ปี หลังจากนั้น...


มันเป็นกลางคืนที่แสนสงบสุข ราวตีหนึ่งของคืนวันที่ 25 เมษายน รอยต่อเช้ามืดของวันที่ 26 เมษายน 1986 เจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้าได้เข้าตรวจระบบหล่อเย็นที่เตาปฎิกรณ์หมายเลข 4 แต่ได้ละเมิดเกณฑ์ความปลอดภัย ส่งผลให้พลังงานในเตาปฏิกรณ์ได้พุ่งสูงขึ้น แม้จะพยายามปิดระบบเตาปฏิกรณ์ทั้งหมดแล้ว แต่พลังงานที่เพิ่มขึ่นก่อให้เกิดปฏิกริยาลูกโซ่ของการระเบิดภายใน ในที่สุด แกนหลักของนิวเคลียร์เกิดระเบิด ปริมาณของสารกัมมันตรังสีและสารพิษออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ สูงกว่าระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา ญี่ปุ่น 100 เท่า!!!


ด้วยจำนวนและปริมาณของสารกัมมันตรังสี ที่ถูกปล่อยออกมาในครั้งนี้ คือ Iodine 131 ที่ทำลายต่อมไทรอยด์ และกัดกินส่วนอื่นๆ ในร่างกายมนุษย์ กระจายทั่วยุโรป, สาร Caesium 137 เป็นสารก่อให้เกิดมะเร็งและกำจัดได้ยากมาก ปนเปื้อนอยู่บนทุกอย่างที่มันสัมผัส ติดอยู่นานมากกว่า 30 กว่าปี, สาร Strontium 90 หนึ่งในสารกัมมันตรังสีที่มีอันตรายมากๆ มีผลทำลายไขสันหลัง เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งในกระดูก มะเร็งของเนื้อเยื่ออ่อนที่อยู่ใกล้กระดูก และมะเร็งเม็ดเลือดขาว วงจรชีวิตของสาร Strontium 90 ยาวนานถึง 90 ปี ก๊าซพิษ Xenon 133 เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งในปอด แม้แต่ฝนก็ไม่สามารถชำระล้างมันได้ แต่จะเปลี่ยนสภาพจากก๊าซมาเป็นสารกัมมันตรังสีที่แข็งตัว และจะอยู่คู่โลกอีกหลายร้อย หลายพัน หรือหลายหมื่นปี



กัมมันตรังสีพวยพุ่งขึ้นสู่บรรยากาศ ปกคลุมทางตะวันตกของสหภาพโซเวียต ยุโรปตะวันออก ยุโรปตะวันตก ยุโรปเหนือ ฝนกรดจากกัมมันตรังสีแพร่กระจายไปไกลถึงไอร์แลนด์ โดยยูเครน เบลารุส และ รัสเซีย เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากหายนะภัยเชอร์โนบิลมากที่สุด คือมีพื้นที่ปนเปื้อนรังสีมากถึงร้อยละ 63 ทางการยูเครน เบลารุส และรัสเซีย ต้องอพยพประชากรมากกว่า 336,000 คน ออกจากพื้นที่อย่างฉุกเฉิน


มีผู้ได้รับผลกระทบจากการระเบิดโดยตรงมากกว่า 600,000 คน มีผู้เสียชีวิตทันทีหลังการเกิดระเบิด 56 คน แต่ผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งจากการสัมผัสกัมมันตรังสีอาจสูงถึง 4,000 - 6,000 ราย และอีกมากมายที่สภาพร่างกายเปลี่ยนไปเพราะกัมมันตภาพรังสี พิการ เซลล์ร่างกายได้รับผลกระทบ และตายลงอย่างช้าๆ

โลกร้องไห้เมื่อรัฐบาลยูเครนรายงานว่าเหยื่อเชอร์โนเวิล 642,000 คน จากทั้งหมด 3 ล้านคน คือเด็ก!


เมืองพริเพียต ถูกทิ้งร้างเนื่องเนื่องจากระดับการแพร่กระจายของรังสีอยู่ในปริมาณสูง กลายเป็นที่อยู่ของสุนัขป่า ม้าป่า บีเวอร์ หมูป่า และสัตว์อื่นๆ เมืองอยู่ในสถานะของเมืองที่มีการปนเปื้อนระดับสูง และยังคงถูกทิ้งร้าง เนื่องจากต้องกำจัดพลูโตเนียมที่แพร่กระจายปกคลุมไปทุกหนแห่ง โดยคาดว่าต้องใช้เวลามากกว่า 24,000 ปี เพื่อลดปริมาณความเข้มข้นครึ่งหนึ่งที่ปรากฎในขณะนี้



2. ระเบิดเมืองท่าเทียนจิน (Tianjin explosions) นครเทียนจิน ประเทศจีน 2 สิงหาคม 2015


โกดังเก็บสารเคมีระเบิดครั้งใหญ่ เขย่าแผ่นดินจีนเท่าแผ่นดินไหวระดับ 2.9 ในช่วงดึกของวันที่ 12 ส.ค. จู่ๆ ได้เกิดเหตุระเบิดสองระลอกห่างจากกัน 32 วินาที บริเวณโกดังตู้ส่งสินค้าในท่าเรือเทียนจิน โกดังเก็บสินค้าของบริษัทขนส่งรุยไฮโลจิสติกส์ ซึ่งบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทจัดการวัตถุอันตรายที่ได้รับอนุญาตจากทางการ เขตปินไห่ นครเทียนจิน สาธารณรัฐประชาชนจีน


ระเบิดทั้ง 2 ครั้ง รุนแรงจนสามารถรับรู้แรงระเบิดได้หลายกิโลเมตรจากจุดเกิดเหตุ ระเบิดทั้งสองระลอกมีขนาดเทียบเท่ากับเหตุแผ่นดินไหวขนาด 2.3 และ 2.9 แมกนิจูด เท่ากับระเบิดทีเอ็นทีขนาด 3 ตัน และ 21 ตัน ตามลำดับ และเกิดประกายไฟปะทุจากการระเบิดสูงขึ้นไปในอากาศหลายร้อยเมตร


รัฐบาลท้องถิ่นเมืองเทียนจินระบุว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 700 คน จากเหตุระเบิดดังกล่าว หลายคนมีอาการบาดเจ็บจากแผลไฟไหม้และสะเก็ดระเบิด ทั้งนี้ มีจีนระดมเจ้าหน้าที่ดับเพลิงมากกว่า 1,000 นาย ณ ที่เกิดเหตุ เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 21 นาย ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากทางการอยู่ที่ 55 คน

เหตุระเบิดดังกล่าวมีความรุนแรงมากเสียจนดาวเทียมฮิมะวะริของญี่ปุ่นสามารถจับภาพเหตุการณ์นี้ไว้ได้จากอวกาศ แรงระเบิดยังได้ทำลายอาคารของบริษัทขนส่งจำนวนเจ็ดบริษัท ตลอดจนรถยนต์จำนวนหลายพันคันที่จอดอยู่ในลานจอดใกล้เคียง ส่งผลให้อาคารที่พักอาศัยโดยรอบรัศมี 2 กิโลเมตรจากจุดเกิดเหตุได้รับความเสียหาย เช่น กระจกหน้าต่างแตกกระจาย กระเบื้องหลังคาหลุดลอก และฝ้าเพดานพังถล่ม


เช่นเดียวกับสถานีรถไฟฟ้าตงไหของรถไฟฟ้าใต้ดินเทียนจินสาย 9 (Tianjin Metro Line 9) ที่หลังคาของสถานียุบตัวลงและกีดขวางการเดินรถ ทำให้ต้องระงับการให้บริการรถไฟฟ้าทั้งสายในวันที่ 13 สิงหาคม


จากการตรวจสอบพบว่า มีโซเดียมไซยาไนด์อย่างน้อย 700 ตัน ถูกเก็บไว้ ณ ที่เกิดเหตุ และพบการรั่วไหลของสารดังกล่าวบริเวณท่อระบายน้ำ ซึ่งในเช้าวันพฤหัสบดีที่ 13 ส.ค. เจ้าหน้าที่ตรวจพบก๊าซพิษอาทิเช่น


ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ ภายในระยะห่าง 500 เมตร รอบจุดเกิดเหตุ แต่ปริมาณของก๊าซไม่เกินระดับที่กำหนดไว้ตามมาตรฐาน ส่วนระยะห่างรัศมี 2 กิโลเมตร จากจุดเกิดเหตุ ไม่มีการตรวจพบก๊าซอันตรายดังกล่าว ซึ่งทางการจีนก็ได้ออกคำสั่งให้ผู้อยู่อาศัยในบริเวณโดยรอบมากกว่า 3,500 หลังคาเรือนต้องอพยพไปพักพิง ณ ศูนย์พักพิงชั่วคราว เนื่องจากกังวลว่าจะมีเหตุระเบิดเกิดขึ้นตามมา



3. เหตุการณ์11-M ระเบิด 14 ลูกที่มาดริด ประเทศสเปน 11 มีนาคม 2004


911 สเปน เช้าหายนะของดินแดนกระทิงดุ


เช้าตรู่ของวันที่ 11 มีนาคม 2004 (9/11) รถไฟสายชานเมืองขบวนหนึ่ง เต็มแน่นไปด้วยโดยสาร ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนและคนทำงานกำลังจะเข้าเทียบสถานี Atocha ซึ่งเป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดของเมืองมาดริด เมื่อเหลือระยะทางอีกเพียง 500 เมตร จะถึงสถานี เสียงระเบิดลูกแรกดังขึ้น อีกไม่กี่นาทีต่อมา ระเบิดลูกอื่นๆ ก็ระเบิดตามกันมา รวมทั้งหมด 14 ลูก ใน 4 ขบวน 3 จุด 3 สถานี รวมผู้โดยสารร่วมขบวนทั้งหมด 6,000 คน


แรงระเบิดฉีกรถไฟขาดออกเป็นท่อนๆ ฝุ่นฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ เสียงกรีดร้องเกิดดังขึ้นไม่ขาดสาย


ในวันนั้น สเปนสูญเสียพลเมืองจากเหตุระเบิดนี้ 200 คน และบาดเจ็บอีกประมาณ 1,900 คน นับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติ ศาสตร์สเปนยุคใหม่


มีการแย่งชิงผลงานการก่อการร้ายครั้งนี้ระหว่ากลุ่มก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดงอย่าง ETA และ อัลไคด้า

ระเบิดรถไฟในเมืองหลวงแดนกระทิงดุ ในครั้งนี้ เกิดขึ้นใน 911 พอดิบพอดีภายหลังเหตุวินาศกรรมจี้เครื่องบินชนตึกเวิล์ดเทรดในสหรัฐอเมริกา ทั้งยังเลือกเป้าโจมตีรถไฟ 4 ขบวน ทำนองเดียวกับที่กรณี 11 กันยายน 2001 มีการจี้เครื่องบินโดยสารรวม 4 ลำ



4. ละเลงเลือด 7/7 กลางลอนดอน ประเทศอังกฤษ 7 ก.ค. 2005

อัลไคด้าชำระแค้น บุกอิรัก-อัฟกานิสถาน


7 ก.ค.หรือ 7/7 ปี 2005 ในช่วงเวลาเร่งด่วนของเช้าในมหานครลอนดอน ท่ามกลางการเดินทางวุ่นวายเป็นปกติของวันทำงาน จู่ๆ ก็เกิดดังสนั่น 4 ครั้งซ้อน ซึ่ง 3 ลูกแรกเกิดเหตุระเบิดในรถไฟใต้ดิน 3 ขบวน จากนั้นอีกครึ่งชั่วโมงรถประจำ ทางสองชั้นถูกระเบิดขึ้นเป็นครั้งที่ 4


มีผู้เสียชีวิต 56 ศพ และผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 700 คน โดยเหตุระเบิดครั้งนี้เกิดขึ้นเพียง 1 วัน หลังผู้คนในมหานครลอนดอนต่างพากันเฉลิมฉลอง เนื่องจากได้รับข่าวดีจากการได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 2012 และกำลังอยู่ระหว่างจัดการประชุมสุดยอดผู้นำชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี8) ในสกอตแลนด์

ภายหลังเกิดเหตุไม่กี่ชั่วโมงกลุ่ม "องค์กร อัลกออิดะห์ ญิฮาด ในยุโรป" ได้ออกแถลงแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเหตุผลที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจวางระเบิด คือ การล้างแค้นที่อังกฤษได้รุกรานอิรักและอัฟกานิสถาน


เหตุระเบิดคราวนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับ เหตุการณ์ระเบิดรถไฟที่มาดริด ประเทศสเปน ถือเป็นการก่อการร้ายที่รุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร นับตั้งแต่การวางระเบิดเที่ยวบินแพนแอมที่ 103 เหนือเมืองล็อกเกอร์บี ในปี ค.ศ. 1988



5. รถแก๊สระเบิด กรุงเทพฯ ประเทศไทย 24 กันยายน 1990

ทะเลเพลิงเพชรบุรีตัดใหม่ ย่างสดสยอง


เป็นสี่ทุ่มบนถนนสายหลักใจกลางกรุงเทพฯ เมืองที่การจราจรแน่นในชั่วโมงเร่งด่วนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพชรบุรีตัดใหม่ เป็นถนนอีกหนึ่งเส้นที่ยามนั้นแออัดไปด้วยรถนานาชาติ หนึ่งในนั้น คือรถบรรทุกแก๊สหมายเลขทะเบียน 71-0415 กทม. แบบแค็ปซูลคู่พวงท้ายซึ่งติดตั้งเป็นแค็ปซูลคู่อีกชุดหนึ่งของบริษัท อุตสาหกรรมแก๊สสยาม จำกัด ความจุแก๊ส ซึ่งเบิกจ่ายจากคลังย่านถนนพระรามที่ 3 เพื่อนำไปลงปั๊มย่านห้วยขวาง


นายสุทัน ฝักแคเล็ก ผู้ขับรถบรรทุกแก๊สคันดังกล่าว พยายามขับลงทางด่วนเพชรบุรีตัดใหม่ด้วยความเร็วเพื่อให้พ้นไฟแดง โดยเลี้ยวรถไปทางด้านขวามุ่งหน้าจะไปสี่แยกมักกะสัน แต่รถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุ พลิกตะแคงไถลไปกับพื้นถนนจนถึงหน้าอาคารหอพักริมถนนเพชรบุรี แรงเสียดสีกับพื้นถนน ทำให้ถังบรรจุแก๊สรูปแคปซูล 2 ถัง ถังละ 20,000 ลิตร ที่หลุดออกจากตัวรถ มีอุณหภูมิสูงขึ้น เพิ่มแรงอัดให้แก๊สที่บรรจุอยู่ภายในถังเหล็ก จนปริแตก แก๊สที่บรรจุอยู่ภายในได้พวยพุ่งออกมาและเกิดเป็นประกายไฟและระเบิดเสียงดังหลายครั้ง ทำให้บริเวณถนนเพชรบุรีตัดใหม่และละแวกใกล้เคียงกลายเป็นทะเลเพลิงในไม่กี่วินาที

เพลิงลุกลามรวดเร็ว คลอกผู้คนในรถยนต์ซึ่งติดไฟแดงอยู่จนเสียชีวิตทันทีหลายราย บางรายเสียชีวิตเพราะสำลักควัน บางคนที่หนีออกมาได้ก็บาดเจ็บสาหัส เนื้อตัวเป็นแผลพุผองไหม้จากเปลวเพลิง ขณะเดียวกัน ถังแก๊สอีกถังที่ยังติดอยู่กับตัวรถไม่อาจทนทานความร้อนได้ ก็ระเบิดอีกครั้ง ตึกแถวสองฟากถนนเกิดเพลิงลุกท่วม และลามไปติดแผ่นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่เกิดเป็นเพลิงสูงท่วมตึกสามชั้น หม้อแปลงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ข้างถนนเกิดช็อต กระแสไฟฟ้าถูกตัดขาด ทำให้ไฟดับ และเกิดเป็นลูกเพลิงพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าสีแดงฉาน ผู้อาศัยในบริเวณนั้นและละแวกใกล้เคียง รวมทั้งชุมนุมแออัดนับ 100 หลังคาเรือน พากันหลบหนีเอาชีวิตรอด เพลิงยังคงไหม้ต่อเนื่องนานนับชั่วโมง เจ้าหน้าที่จากหน่วยกู้ชีพและตำรวจดับเพลิงพยายามฉีดน้ำสกัดกั้น แต่แก๊สฟุ้งกระจายในอากาศ ทำให้ระงับเพลิงได้ยาก เพลิงมาสงบเอาในเวลา 22.00 น. ของคืนต่อมา


นายสุทันผู้ขับรถแก๊ส เสียชีวิตทันทีคาซากรถ รวมผู้เสียชีวิตจากเหตุระเบิดนี้ 88 คน บาดเจ็บสาหัส 24 คน เพลิงลุกลามไหม้บ้านเรือนในชุมชนแออัดทางด้านซ้ายของถนนเพชรบุรีเสียหาย ไหม้ตึกแถวด้านซ้าย และขวาของถนนเพชรบุรีจำนวน 51 ห้อง รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ซึ่งจอดอยู่ในถนนเพชรบุรีตั้งแต่แยกทางด่วนถึงแยกถนนวิทยุเสียหายประมาณ 67 คัน ค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 214,926,282 บาท


ส่วนรถบรรทุกแก๊สคันที่ก่อเหตุ เป็นของบริษัทอุตสาหกรรมแก๊สสยาม จำกัด ซึ่งจากการตรวจสอบหลักฐาน พบว่าไม่ได้มาตรฐานตามกฎหมายกำหนด คือไม่มีข้อต่อสำหรับยึดถังแก๊สกับตัวรถไม่ให้หล่นลงมาจนเกิดอันตราย ทั้งยังไม่มีสายรัดถังแก๊สเหมือนที่รถบรรทุกแก๊สทั่วไปใช้กัน


จากเหตุการณ์สลดอุบัติเหตุร้ายแรงครั้งนี้จบลงที่ 4 บริษัทแก๊ส ประกอบด้วย ปตท. เอสโซ่ เชลล์ และคาลเท็กซ์ ร่วมกันหามาตรการในการปฏิบัติเกี่ยวกับระบบต่างๆ ของงานธุรกิจแก๊สปิโตรเลียมเหลว (ก๊าซแอลพีจี) เพื่อป้องกันอุบัติภัยที่จะเกิดขึ้นจากการขนถ่าย โดยจัดทำประวัติเกี่ยวกับรถบรรทุกแก๊สและประวัติพนักงานขับรถเป็นหลักฐาน หากพบว่าไม่ได้มาตรฐานหรือความประพฤติไม่ดีจะแจ้งให้บริษัทอื่นทราบ นอกจากนี้ ได้ทำหนังสือถึงกรมโยธาธิการและกรมการขนส่งทางบก เพื่อเสนอให้บังคับรถบรรทุกแก๊สจะต้องทำหลักฐานใบอนุญาตติดข้างรถในส่วนของผู้ค้ารายย่อย และผู้บริโภคทางบริษัทจะทำการประชาสัมพันธ์ และอบรมให้ตลอดจนถึงความระมัดระวังในการขนถ่าย

Powered by Froala Editor

ข่าวที่คุณอาจสนใจ
TOP NEWS
  • TODAY
  • WEEK
  • MONTH