เปิดสาเหตุ ทำไม? วงเงินประกันสูงถึง40ล.บาท! ตร.ฆ่าฟลอยด์ จอร์จ ชวนม๊อบต้านเหยียดผิว
"เดเรค เชาวิน" อดีตตำรวจฆ่า "จอร์จ ฟลอยด์" ขึ้นศาลครั้งแรก เปิดสาเหตุวงเงินประกันสูงลิบ! เกือบ 40 ล้านบาท
วันนี้( 9 มิ.ย.63) เดเรค เชาวิน อดีตตำรวจเมืองมินนิแอโพลิส รัฐมินนิโซตา สหรัฐอเมริกาที่ถูกกล่าวหาว่า ฆาตกรรมนายจอร์จ ฟลอยด์ ชาวอเมริกันผิวดำขึ้นศาลครั้งแรกในวันจันทร์ที่ 8 มิ.ย.ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งศาลตั้งวงเงินประกันตัวไว้ที่ 1.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ เกือบ 40 ล้านบาท โดยคณะอัยการอ้างว่า “ความรุนแรงของข้อกล่าวหา” และความโกรธแค้นไม่พอใจของสาธารณชนเป็นเหตุผลสำหรับการเพิ่มวงเงินประกันตัวจากเดิม 1 ล้านดอลลาร์
เดเรค เชาวิน ถูกตั้งข้อหา “ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเเต่ไม่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อน” (second-degree murder) ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 40 ปี ส่วนอดีตตำรวจอีก 3 นายที่อยู่ในเหตุการณ์ด้วยถูกตั้งข้อหาให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการฆาตกรรม ซึ่ง เชาวิน รับอาชีพตำรวจมา 19 ปีไม่ได้ให้การแก้ต่างอะไรขณะปรากฏตัวต่อศาลผ่านวีดิทัศน์ในวันจันทร์ เขาไม่ได้พูดอะไรระหว่างการไต่สวน 15 นาที และถูกใส่กุญแจมือและสวมชุดนักโทษสีส้มขณะนั่งอยู่บนโต๊ะขนาดเล็ก
ผู้พิพากษา จีนไนซ์ เอ็ม เรดดิ่ง ตั้งวงเงินประกันตัว 1.25 ล้านดอลลาร์โดยไม่มีเงื่อนไข หรือ 1 ล้านดอลลาร์โดยมีเงื่อนไขว่า เชาวิน จะไม่ติดต่อกับครอบครัวของฟลอยด์, ยอมมอบอาวุธปืนของเขาและไม่ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอีกขณะรอการพิจารณาคดี ซึ่งทนายความของเขาไม่ได้คัดค้านการกำหนดวงเงินประกันดังกล่าว
ทั้งนี้ เดเรค เชาวิน วัย 44 ปี ปัจจุบันถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำโอ๊ค พาร์ค ไฮจ์ส รัฐมินนิโซตา หลังถูกย้ายเรือนจำหลายครั้งและมีกำหนดจะขึ้นให้การต่อศาลอีกครั้งในวันที่ 29 มิ.ย.นี้
การเสียชีวิตของ นายจอร์จ ฟลอยด์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา นำไปสู่การประท้วงทั่วโลกและเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจ โดยเชาวิน ซึ่งเป็นชาวอเมริกันผิวขาว ใช้เข่ากดลงบนลำคอของฟลอยด์แนบกับพื้นถนนนายเกือบ 9 นาที ขณะที่เขาถูกจับกุมตัวในเมืองมินนีแอโพลิสจนทำให้ฟลอยด์ขาดใจตายในวันดังกล่าว เชาวินและเพื่อนตำรวจอีก 3 นาย ถูกปลดออกจากตำแหน่งตั้งแต่วันนั้นและถูกตั้งข้อหาดำเนินคดี
ส่วนพิธีศพของฟลอยด์จะถูกจัดขึ้นเป็นการส่วนตัวในเมืองฮิวสตัน รัฐเท็กซัส ซึ่งฟลอยด์เคยอาศัยก่อนย้ายไปยังเมืองมินนีแอโปลิส ในวันอังคารตามเวลาท้องถิ่นและยังมีการจัดพิธีรำลึกถึงเขาในเมืองมินนีแอโพลิสและในรัฐนอร์ท แคโรไลนา บ้านเกิดของเขาด้วย
ด้านนายโจ ไบเดน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจาพรรคเดโมแครต คาดว่าจะเดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจครอบครัวของฟลอยด์ในเมืองฮิวสตัน เพื่อแสดงความเสียใจ บรรดาผู้ช่วยของอดีตรองประธานาธิบดีผู้นี้ กล่าวว่า เขาจะบันทึกวิดีโอคำกล่าวแสดงความรู้สึกสำหรับพิธีศพของฟลอยด์ด้วย
ส่วนการประท้วงต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่การเสียชีวิตของฟลอยด์ ขณะนี้ย่างเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 แล้วในสหรัฐ โดยมีการชุมนุมใหญ่ในหลายเมืองซึ่งรวมทั้งกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.เมืองหลวง, นิวยอร์ก, ชิคาโก, ลอสแอนเจลีส และซานฟรานซิสโก กลุ่มผู้ประท้วงต่างตะโกนคำกล่าว “Black Lives Matter” หรือคนผิวดำก็มีความสำคัญ และ “No Justice, No Peace” หรือไม่มีความยุติธรรมไม่มีสันติภาพ การประท้วงครั้งนี้นับเป็นว่าเป็นการประท้วงครั้งใหญ่สุดในสหรัฐในการแสดงพลังต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 แต่การประท้วงส่วนใหญ่ก็เป็นไปอย่างสงบ อย่างไรก็ตามก็มีรายงานการปล้นสะดมและความรุนแรงในหลายพื้นที่เช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีการประท้วงในหลายเมืองใหญ่ของยุโรปซึ่งรวมทั้งกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษและกรุงโรม ประเทศอิตาลี เพื่อสนับสนุน Black Lives Matter ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับการประท้วงต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติในออสเตรเลีย ก็มีผู้เข้าร่วมหลายพันคน
โดยในเมืองบริสตอลของอังกฤษ กลุ่มผู้ประท้วงได้โค่นทำลายรูปปั้นของเอ็ดเวิร์ด คอลสตัน พ่อค้าทาสคนสำคัญในช่วงศตวรรษที่ 17 ด้วย
Powered by Froala Editor