ก้าวสำคัญแห่งความเท่าเทียม! ครม.ผ่านพรบ.คู่ชีวิต เพศเดียวกันจดทะเบียนได้!
ครม.ไฟเขียวผ่านร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนได้ เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรมเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติ ชูก้าวย่างสำคัญสังคมไทยในการส่งเสริมความเสมอภาคเท่าเทียมของคนทุกเพศ
วันนี้ (8 ก.ค.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมครม. วันนี้ (8 ก.ค.63) ว่า ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เสนอโดยกระทรวงยุติธรรม ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.บ. แล้ว โดยมีหลัก เพื่อให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรมเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติและให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี
สาระสำคัญ ของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต มีดังนี้
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอ สภาผู้แทนราษฎรต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. ....
3. ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เตรียมการเพื่อรองรับการรับบุตรบุญธรรมร่วมกันของคู่ชีวิตที่จะมีขึ้นภายหลังจากที่ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ตามข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป
4. ให้กระทรวงยุติธรรมรับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
5. สำหรับการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ภายหลังจากที่ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับในเรื่องนี้มีผลใช้บังคับแล้ว เห็นควรให้กระทรวงยุติธรรมร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง พิจารณาศึกษาผลกระทบและแนวทางในการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและหน้าที่ที่คู่ชีวิตที่มีเพศเดียวกันควรได้รับอย่างเท่าเทียมกับคู่สมรสระหว่างชายและหญิงตามกฎหมายอื่นด้วย ทั้งนี้ ตามข้อสังเกตของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติ รวม 2 ฉบับ ที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ เป็นร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติหลักการ (ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. ....) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว โดยได้ปรับปรุงแก้ไข และได้ยกร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ขึ้นมาอีกฉบับหนึ่งเพื่อให้สอดคล้องกัน ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดบทบัญญัติเฉพาะเกี่ยวกับการจดทะเบียนคู่ชีวิตและการเลิกการเป็นคู่ชีวิต สิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่ชีวิต การจัดการทรัพย์สิน การรับบุตรบุญธรรม และมรดก เพื่อรองรับความสัมพันธ์การอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกันโดยกำเนิด โดยมีการอุปการะเลี้ยงดูและมีความสัมพันธ์ในด้านอื่น ๆ ไม่แตกต่างไปจากคู่สมรส ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่ก่อตั้งขึ้นระหว่างบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และสอดคล้องกับสภาพสังคม ในปัจจุบัน
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังนี้
1.1 กำหนดให้ “คู่ชีวิต” หมายความว่า บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิดและ ได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้
1.2 กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัวตามกฎหมายว่าด้วยศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ตามพระราชบัญญัตินี้
1.3 กำหนดให้การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ และทั้งสองมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย รวมทั้งกำหนดบุคคลต้องห้ามมิให้จดทะเบียนคู่ชีวิต คือ กรณีบุคคลทั้งสองคนเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมา เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา บุคคลฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นคนวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ และบุคคลฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีคู่สมรสหรือคู่ชีวิตอยู่ก่อนแล้ว
1.4 กำหนดให้การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายยินยอมเป็นคู่ชีวิตกันและต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียน และให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย
1.5 กำหนดให้ในกรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมของบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล แล้วแต่กรณี และกำหนดวิธีให้ความยินยอมดังกล่าว รวมทั้งกำหนดให้ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิตตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
1.6 กำหนดให้สถานะการจดทะเบียนคู่ชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้ถือเป็นข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
1.7 กำหนดบทบัญญัติเพื่อรองรับลักษณะความสัมพันธ์ของคู่ชีวิต เช่น ภูมิลำเนาของคู่ชีวิต การร้องขอให้ศาลสั่งหรือเพิกถอนคำสั่งให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ การจัดทำบัญชีทรัพย์สินของคู่ชีวิตผู้ไม่อยู่ การถอนคืนการให้ในการจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิต รวมทั้งกำหนดให้คู่ชีวิตต้องอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวและช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน
1.8 กำหนดให้คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยาตามมาตรา 3 และมาตรา 5 (2) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกับสามีหรือภริยาตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
1.9 กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต โดยแบ่งเป็นสินส่วนตัวและทรัพย์สินร่วมกัน
1.10 กำหนดเกี่ยวกับความเป็นโมฆะของการจดทะเบียนคู่ชีวิต โดยกำหนดให้ การจดทะเบียนคู่ชีวิตที่ฝ่าฝืนกฎหมายเป็นโมฆะ ให้คำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการจดทะเบียนคู่ชีวิตเป็นโมฆะ และให้คู่ชีวิตฝ่ายที่ได้จดทะเบียนคู่ชีวิตโดยสุจริตมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้
1.11 กำหนดเกี่ยวกับการสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต โดยการเป็นคู่ชีวิตย่อมสิ้นสุดลงด้วย ความตาย ศาลพิพากษาให้เพิกถอน หรือการเลิกการเป็นคู่ชีวิต รวมทั้งกำหนดเหตุฟ้องเลิกการเป็นคู่ชีวิต เช่น คู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันคู่ชีวิต หรือฉันภริยาหรือสามี ประพฤติชั่ว ทำร้าย ทรมานร่างกายหรือจิตใจ หมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง จงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี ไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นคู่ชีวิตกันอย่างร้ายแรง วิกลจริต เป็นโรคติดต่อร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่ง หรือเมื่อคู่ชีวิตทั้งสองฝ่ายสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของ ศาลเป็นเวลาเกินสามปี
1.12 กำหนดเกี่ยวกับบุตรบุญธรรม โดยให้คู่ชีวิตซึ่งได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในพระราชบัญญัตินี้และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้วสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ โดยผู้จะรับบุตรบุญธรรมหรือผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม ถ้าได้จดทะเบียนคู่ชีวิตกับบุคคลอื่น ต้องได้รับความยินยอมจากคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งก่อน รวมทั้งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียนรับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมของตนด้วยก็ได้ โดยจะต้องได้รับความยินยอมของคู่ชีวิตฝ่ายที่เป็นผู้รับบุตรบุญธรรมอยู่แล้ว และกำหนดให้การรับบุตรบุญธรรมย่อมเป็นอันยกเลิกเมื่อมีการจดทะเบียนคู่ชีวิตกับบุตรบุญธรรม
1.13 กำหนดให้เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและ หน้าที่เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก
1.14 กำหนดให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยคู่สมรส ครอบครัว และบุตรบุญธรรม มาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลม ในบางกรณี
2. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางประการในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อให้สอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... ดังนี้
2.1 กำหนดให้ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสหรือคู่ชีวิตอยู่ไม่ได้
2.2 กำหนดให้เหตุฟ้องหย่า รวมถึงกรณีสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่น ฉันคู่ชีวิต
2.3 กำหนดให้สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพในกรณีหย่าหมดไป ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่หรือจดทะเบียนคู่ชีวิต
Powered by Froala Editor